วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

“ควันเผาศพ” มลพิษและความตายอันน่ากลัว

“ควันเผาศพ” มลพิษและความตายอันน่ากลัว

พิธีกรรมการฌาปนกิจหรือเผาศพนั้น เป็นพิธีกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน และยังมีอีกหลายประเทศที่มีความเชื่อการส่งวิญญาณผู้ตายสู่สุคติด้วยการ เลือกที่จะเผาร่างอันไร้ลมหายใจนั้น นี่เองที่ทำให้หลายต่อหลายวัดในกรุงเทพมหานครและตลอดทั่วประเทศไทย จำต้องมีเมรุเผาศพเพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว แต่สิ่งที่อีกหลายคนยังไม่รู้ก็คือ ในการเผาศพแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดสารพิษจากการเผาไหม้ที่มีอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว!!!

เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้จัดการเสวนาเชิงวิชาการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อันว่าด้วยเรื่อง “ความตายและสิ่งแวดล้อม เตาเผาศพแหล่งมลพิษร้ายใกล้ตัว” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง ดร.นิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และดร.จารุพงษ์ บุญหลง ผู้ประสานงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมให้ความรู้

ดร.จารุพงษ์เปิดเผยถึงสารพิษตัวสำคัญที่มีผลร้ายแรงต่อร่างกาย อันเนื่องมาจากการเผาศพว่า ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ “ไดออกซิน/ฟิวแรนส์” (Dioxins / Furans) ซึ่งเป็นสารเคมีอันเป็นผลผลิตที่ไม่ได้ตั้งใจหรือที่เรียกว่า Unintentional Product ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ (ในช่วงอุณภูมิ 200-650 เซลเซียส”)

ไดออกซิน/ฟิวแรนส์เป็นสารประกอบในกลุ่มคลอริเนตเตท อะโรมาติก (chlorinated aromatic compound) ที่มีออกซิเจนและคลอรีนเป็นองค์ประกอบ 1-8 อะตอม มีมากถึง 210 ชนิด แต่มีเพียง 17 ชนิดเท่านั้นที่มีรายงานว่ามีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์

“สาเหตุของการเกิดไดออกซิน/ฟิวแรนส์ ที่มาจากการเผาศพก็เพราะประการแรก นอกจากศพที่ส่งเข้าเตาเผาแล้ว ยังมีวัสดุอื่นๆ ที่ถูกส่งเข้าไปยังเตาเผาด้วย เช่น อุปกรณ์ตกแต่งโรงศพที่เป็นวัสดุพลาสติก พวงหรีด กระดาษเงินกระดาษทอง เทพพนม หรือพลาสติกที่ห่อศพติดเชื้อจากโรงพยาบาล อย่างศพผู้ป่วยเอดส์ ก็จะส่งเข้าเตาเผาทั้งพลาสติกแบบนั้นเลย ไดออกซิน/ฟิวแรนส์จะเกิดขึ้นจะเกิดจากการเผาของดังกล่าว โดยการเผาจะเป็นการเผาที่ไม่สมบูรณ์ในช่วงอุณหภูมิ 200-650 เซลเซียส”

ดร.จารุพงษ์กล่าวต่อถึงพิษร้ายของไดออกซิน/ฟิวแรนส์ ว่าเพียงแค่0.0000000001 กรัม ก็มีผลต่อร่างกายมนุษย์แล้ว และหากได้รับพิษของมันสะสมเข้าไปร่างกายเป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลออกมาใน รูปของ น้ำหนักลด โรคผิวหนัง เป็นสิวแบบคลอแอคเน่ ตับอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อัณฑะมีรูปร่างผิดปกติ การสร้างอสุจิลดลง ตัวอ่อนหรือทารกผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น

ใน ส่วนของการเกิดไดออกซิน/ฟิวแรนส์จากการเผาศพนั้น ดร.จารุพงษ์อธิบายว่า ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของเตาเผาศพของประเทศไทยนั้นจะมีความร้อนในการเผาที่ สูงไม่พอในการจะเผาไดออกซิน/ฟิวแรนส์ให้หายไปด้วย ซึ่งตามปกตินอกจากที่ไดออกซิน/ฟิวแรนส์จะเกิดจากการเผาอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใส่เข้าไปพร้อมศพแล้ว ที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ ในร่างกายของคนเราเองก็มีไดออกซิน/ฟิวแรนส์อยู่เช่นกัน

“ตามธรรมดานั้นสารไดออกซิน/ฟิวแรนส์จะเข้าสู่ร่างกายคนโดยผ่านทางอาหาร ที่กินเข้าไป เช่น เนื้อ นม ไข่ ที่มาจากสัตว์ที่ได้รับสารไดออกซิน/ฟิวแรนส์ โดยอาจจะเป็นจากการกินหญ้า กินน้ำ ที่มีสารไดออกซิน/ฟิวแรนส์จากเตาเผาศพลอยมาเกาะ หรือกระทั่งสัมผัสสารไดออกซิน/ฟิวแรนส์ในอากาศ เมื่อคนกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านั้นเข้าไป ไดออกซิน/ฟิวแรนส์ก็จะเข้าไปสะสมในร่างกายของคน และไดออกซิน/ฟิวแรนส์จะละลายได้ดีในไขมัน มันจึงเข้าไปเกาะอยู่ตามชั้นไขมันของร่างกาย และแน่นอนว่าการเผาศพนั้น ส่วนชั้นไขมันก็ต้องถูกเผา นั่นเป็นการเผาเพื่อก่อเกิดสารไดออกซิน/ฟิวแรกจากศพออกมาเป็นจำนวนมาก”

ดร.จารุพงษ์ได้ยกกรณีที่เคยไปเก็บตัวอย่างจากศพพระภิกษุรูปหนึ่งที่ถูก เก็บไว้นานแล้ว สภาพศพแห้ง แต่เมื่อนำเข้าทำพิธีฌาปนกิจแล้วปรากฏว่า สารไดออกซินฟิวแรนส์จากศพพระภิกษุที่ถูกเก็บไว้จนแห้ง และมีไขมันในศพน้อยกว่าศพสดมากนั้น ยังคงมีสารพิษออกมามากกว่า 26 เท่าของมาตรฐานความปลอดภัย

“เรื่องมลพิษจากเตาเผาศพเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะถ้าเทียบสัดส่วนสารพิษจากอาหารจำพวกแฮม เบคอน พวกเนื้อสัตว์แปรรูป หรือเชื้อราอะฟลาท็อกซินจากถั่วแล้ว ถือว่าเล็กน้อยมากหากเทียบกับไดออกซิน/ฟิวแรนส์ แล้วการรับสารก็ยังเป็นการรับโดยไม่รู้ตัว ลองนึกภาพสัปเหร่อที่วันๆ ต้องขลุกอยู่กับเตาเผา นึกถึงภาพแขกที่มาร่วมงานที่นั่งรับประทานอาหารที่เจ้าภาพงานศพจัดเลี้ยงให้ บริเวณหน้างานในขณะที่เตาเผากำลังทำงานว่าคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงแค่ไหน” ดร.จารุพงษ์กล่าว

แต่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางป้องกันแก้ไขเจ้าไดออกซิน/ฟิวแรนส์นี้เลย เพราะดร.จารุพงษ์อธิบายว่า กระบวนการเผาศพอย่างถูกวิธีนั้นจะสามารถกำจัดสารพิษตัวร้ายนี้ไปได้ แต่การเผาศพนั้นๆ จำเป็นจะต้องใช้ความร้อนในการเผาสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส และในเตาเผาจะต้องมีการออกระบบการหมุนเวียนอากาศอย่างเป็นระบบมาตรฐาน ต้องมีอุปกรณ์การดูดซับไดออกซิน/ฟิวแรนส์ติดตั้งอยู่ในเตาเผาด้วย และ ต้องใช้เวลาเผาไดออกซิน/ฟิวแรนส์ด้วยอุณหภูมิในระดับดังกล่าวนานกว่า 2 วินาที

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือแทบจะไม่มีเตาเผาใดในกรุงเทพมหานคร ที่มีการจัดระบบการเผาที่ได้มาตรฐานด้วยความร้อนที่สูงขนาดนั้น ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องพูดถึงการเผาศพในต่างจังหวัด

ด้านดร.นิคมก็ได้ให้ภาพกว้างๆ ของการทำพิธีฌาปนกิจในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแบบสั้นๆ แต่ชัดเจน ว่า เพียงแค่วัดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของประชาชนในการจัดพิธีฌาปนกิจศพ ในวันหนึ่งๆ นั้นก็จำต้องเผาศพวันละเป็นสิบๆ ศพแล้ว

“เพียง 2 วัดยอดฮิตที่รู้ๆ กัน รวมกันทุกศาลาก็ปาเข้าไปประมาณ 100 กว่าศพแล้วครับ” ดร.นิคมกล่าว

ดร.จารุพงษ์ได้เผยโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเสนอว่า ในกรุงเทพมหานครจำเป็นจะต้องมีเตาเผาศพที่ได้มาตรฐาน จัดตั้งเป็นศูนย์เผาศพโดยเฉพาะ โดยใช้ต้นแบบของเตาเผามาจากประเทศเยอรมัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตและคิดค้นเทคนิคการเผาศพที่ดีที่สุดในโลก ดังเช่นที่เห็นกันในประวัติศาสตร์การเผาคนยิวจำนวนมาก ที่ประเทศเยอรมันสามารถจัดสร้างเตาเผาขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพการเผาที่ดี ซึ่งบริษัทที่จัดทำในยุคนั้นได้รับการยอมรับมาจนถึงบัดนี้ จนมีการคิดค้นเทคนิคการเผาและจัดศูนย์เผาศพประจำเมืองเพื่อความสะดวกและดูแล เรื่องมลพิษอย่างจริงจัง

“เตาเผาที่นั่นจะใช้เวลานับแต่ส่งโลงเข้าไปยังเตาเผา จนเป่าอัฐิลงมาใส่โกศนั้น เพียง 45 นาทีเท่านั้น และทุกระบบของเขาได้มาตรฐานทั้งหมด ทำให้เมื่อไปวัดที่ปากปล่องเตาเผา ปรากฎว่าไม่พบไดออกซิน/ฟิวแรนส์แล้ว คือกระบวนการภายในเตาที่ให้ความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส นานกว่า 2 วินาที และมีการระบบการหมุนเวียนอากาศที่ดีนั้น ทำให้การเผาศพๆ นั้นไม่ก่อสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

“หากเราทำในเมืองไทยงบประมาณต่อ 1 ศูนย์ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นเงินที่มากพอสมควร ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาที่ทุกครั้งที่ผมเสนอโครงการนี้ จึงติดขัดมีปัญหาจนทุกวันนี้ แต่หากทำได้ เราจะลดสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรงได้มากทีเดียว” ดร.จารุพงษ์กล่าว

ด้านตัวแทนจากกทม.อย่างดร.นิคมก็ได้กล่าวถึงแนวคิดโครงการศูนย์เผาศพว่า ปัญหาสารพิษจากการเผาศพนั้น เป็นภัยร้ายใกล้ตัว เชื่อว่าผู้บริหารก็ต้องเล็งเห็น แต่ว่าสิ่งที่คณะทำงานต้องทำก็คือ นำเสนอข้อมูลให้ละเอียดมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจ พร้อมทั้งได้เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดเป็นการทิ้งท้ายการเสวนาว่า

“ตอนนี้โปรเจ็กต์ศูนย์เผาศพได้ถูกเขียนเอาไว้ในแผนชาติแล้ว แต่ก็ต้องให้รัฐมนตรีดูก่อน เพื่อจะได้กำหนดนโยบาย ระหว่างนี้ก็คุยกับน้องๆว่า เสนอเข้าไปขั้นแรกก่อน แต่ก็ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมไปด้วย”

ที่มา : www.hunsa.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น