วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การดูแล…บาดแผล

การดูแล…บาดแผล

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ร่างกายของคนเราจะมีกลไกในการซ่อมแซมตนเอง นั่นคือ มีกระบวนการหายของแผลเกิดขึ้น แม้ว่าการหายของแผลจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ แต่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ มาสนับสนุนให้กระบวนการดังกล่าว ดำเนินไปอย่างราบรื่น เราอาจส่งเสริมให้แผลมีการหายได้เร็วเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ครับ

* เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า หรือประโยชน์ต่อร่างกาย กระบวนการหายของแผลจะไม่เป็นไปตามปกติ หากขาดสารอาหารดังต่อไปนี้
- โปรตีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นที่สุดต่อการหายของแผล โดยร่างกายจะย่อยโปรตีนจากอาหาร และนำไปใช้ในการสร้างใยคอลลาเจน นอกจากนี้ โปรตีนยังมีความสำคัญต่อระบบการป้องกันของร่างกาย ช่วยลดโอกาสที่ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย

- กลูโคส เป็นสารที่ให้พลังงาน ถ้าขาดพลังงานจากกลูโคส ร่างกายจะดึงเอาพลังงานจากสารอาหารอื่นมาใช้ โดยเฉพาะโปรตีน ทำให้ได้ประโยชน์จากสารอาหารโปรตีนลดลง

- วิตามินซี มีบทบาทสำคัญในการหายของแผล เพราะเป็นสารจำเป็นในการสังเคราะห์ใยคอลลาเจนและเส้นเลือดฝอย และเนื่องจากเป็นวิตามินที่ไม่มีการเก็บสะสมไว้ในร่างกาย จึงควรเลือกรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ส้ม, ฝรั่ง, กะหล่ำปลี, มะเขือเทศ, ผักใบเขียว เป็นต้น

- วิตามินเอ มีความจำเป็นในการสังเคราะห์ใยคอลลาเจน และการงอกของหนังกำพร้า พบมากในอาหารจำพวกปลา, ตับ, นม และผลิตภัณฑ์จากนม

- สังกะสีและทองแดง โดยสังกะสีจำเป็นในการงอกของหนังกำพร้า และการสังเคราะห์ใยคอลลาเจน ส่วนทองแดงเป็นสารที่จำเป็นสำหรับน้ำย่อย ในการสังเคราะห์ใยคอลลาเจน ซึ่งธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ พบมากในเครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับ, ไข่, เนื้อสัตว์, ปลา, ถั่ว, ผักใบเขียว เป็นต้น

* หลีกเลี่ยงความเครียด คนที่มีภาวะเครียดทั้งกายและใจ จะทำให้แผลหายช้าลง เนื่องจากภาวะเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต คือ แอดรีนาลิน (Adrenaline) มากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลกระทบต่อการหายของแผล โดยทำให้การงอกของเนื้อเยื่อเลวลง

* งดสูบบุหรี่ บุหรี่ทำให้เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปสู่เซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่แผลลดลง โดยเฉพาะแผลที่เกิดกับปลายมือปลายเท้า นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้มีการรวมตัวของเกล็ดเลือด มีผลให้เลือดแข็งตัวมากกว่าปกติ การไหลเวียนจึงไม่ดีทำให้แผลได้รับสารอาหารลดลงอีกด้วย

* ส่งเสริมให้เลือดไปเลี้ยงแผลอย่างเพียงพอ เช่น ในขณะที่อากาศเย็นควรประคบความร้อน ให้ตำแหน่งที่เป็นแผลอุ่นขึ้น ความร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงแผลมากขึ้น นอกจากนั้น การปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ไม่ควรให้ตึงหรือแน่นจนเกินไป และยกส่วนที่เป็นแผลให้สูง เพื่อให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น ก็จะช่วยลดอาการบวมได้

* ควรให้ส่วนที่เป็นแผลได้พัก เช่น การคล้องแขนไว้, การดาม, การใส่เฝือก เป็นต้น การพักช่วยให้การใช้ออกซิเจนลดลง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลใช้ออกซิเจนอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ การพักยังทำให้เชื้อโรคไม่แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ด้วย

* ป้องกันการติดเชื้อที่บาดแผล การติดเชื้อจะทำให้แผลหายช้า เมื่อเชื้อโรคเพิ่มจำนวนมากขึ้นที่แผล เชื้อโรคจะดึงเอาออกซิเจนไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้การสังเคราะห์ใยคอลลาเจนช้าลง หรือเชื้อโรคบางชนิดจะปล่อยสารพิษออกมาสู่แผล ทำให้รบกวนกระบวนการหายของแผล การป้องกันการติดเชื้อ ทำได้โดยการระมัดระวังขณะทำแผล โดยใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่สะอาด หากผู้ป่วยไม่สามารถทำได้เอง ควรไปใช้บริการในสถานพยาบาล ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากรที่พร้อมจะดีที่สุด

* การทำแผลอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมกระบวนการหายของแผลได้เช่นกัน นั่นคือ ไม่ควรทำแผลบ่อยเกินไป หรือเช็ดแผลไม่ถูกเทคนิค เช่น เช็ดแผลแรงเกินไป หรือการดึงผ้าปิดแผลที่ติดแผลโดยขาดความระมัดระวัง จะทำให้เนื้อเยื่อที่กำลังงอกตาย หรือเส้นเลือดฝอยที่กำลังงอกผ่านเข้ามาที่ผ้าปิดแผลฉีกขาด ทำให้กระบวนการหายของแผลต้องล่าช้าออกไป นอกจากนั้น การเลือกน้ำยาใส่แผลที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เซลล์ตายได้เช่นเดียวกัน

กระบวนการหายของแผล เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งมีอยู่แล้วในคนทุกคน การส่งเสริมเพียงแต่ช่วยให้กระบวนการเหล่านั้น ดำเนินไปตามปกติเท่านั้น การหายของแผลยิ่งเร็วเท่าใด ก็ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตของผู้ป่วย จึงน่าจะใส่ใจดูแลและปฏิบัติตนให้ถูกต้องครับ

ที่มา : สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น